แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทย

        

ความหมายของความสุข

  ความหมายของความสุข

  ความหมายของดัชนีชี้วัดความสุขและองค์ประกอบของสุขภาพจิต

หน้าหลักสืบค้น

 

            มีผู้ให้ความหมายของความสุขไว้หลายความหมายดังนี้
            อภิชัย  มงคล  และคนอื่น ๆ (2544ข,  หน้า 1)  ได้ให้คำจำกัดความของความสุขในที่นี้คือ  สภาพชีวิตที่เป็นสุข  อันเป็นผลจากการมีความสุขในการจัดการแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต  มีศักยภาพจะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยครอบคลุมถึงความดีงามภายในจิตใจภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
           

            พระธรรมปิฎก  (ป.อ.ปยุตโต) (อ้างถึงใน อภิชัย  มงคล และคนอื่นๆ , 2544ข, หน้า 59)  ได้กล่าวว่าความสุขมี  2  แบบ  คือ  เป็นความสุขจากภายใน  หมายถึงมีความสงบสุขในใจตนเองหรือมีความสุขจากการรู้เท่าทันเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลายเป็นความสุขทางปัญญา  เนื่องจากเห็นแจ้งความจริงเป็นความโปร่งโล่ง  ไม่มีความติดขัดบีบคั้นใจเป็นความสุขภายในของบุคคล  สำหรับความสุขอีกแบบเป็นความสุขที่ได้จากภายนอก นอกจากนี้ท่านพระธรรมปิฎก  ยังได้แบ่งประโยชน์สุขออกเป็น 3 ระดับ  ดังนี้
            
            ประโยชน์สุขระดับที่ 1 ด้านรูปธรรมที่ตามองเห็นหรือเห็นได้กับตา  คือ  การมีสุขภาพดี  การมีทรัพย์สินเงินทอง  การมีอาชีพการงานเป็นหลักเป็นฐาน  การมียศ ฐานะ  ตำแหน่ง  การเป็นที่ยอมรับในสังคม  การมีมิตรสหายบริวารและการมีชีวิตครอบครัวที่ดี
            
            ประโยชน์สุขระดับที่ 2  ด้านนามธรรมที่ลึกล้ำเลยจากตามองเห็นคือเรื่องของคุณงามความดี การมีสุขที่เกิดจากความมั่นใจในคุณค่าของชีวิต การได้บำเพ็ญประโยชน์  ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์  ความมีศรัทธาในสิ่งที่ดีงามที่เป็นหลักของจิตใจ  และการมีปัญญาที่ทำให้รู้จักการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้  ทำให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี
            
            ประโยชน์สุขระดับที่  3  ด้านนามธรรมขั้นโลกุตตระที่อยู่เหนือกระแสความไหลเวียนของโลกธรรมคือความเป็นผู้มีจิตใจเป็นอิสระด้วยความรู้เท่าทันต่อสิ่งทั้งหลาย รู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริง จนกระทั่งว่าโลกธรรมเกิดขึ้นมากระทบกระทั่งก็ไม่หวั่นไหว  วางใจและปฏิบัติได้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย  ปล่อยให้กฎธรรมชาติทั้งหลาย     ก็เป็นกฎธรรมชาติอยู่ตามธรรมชาติ  ความทุกข์ที่มีอยู่ในธรรมชาติก็คงเป็นทุกข์ของธรรมชาติไป  ไม่เข้ามากระทบกระทั่งบีบคั้นจิตใจของเราได้เป็นผู้มีสุขอยู่กับตนเองตลอดเวลา  ชีวิตก็สมบูรณ์แล้ว

           

             พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันท  ภิกขุ) (อ้างถึงใน อภิชัย มงคล และคนอื่นๆ, 2544ข, หน้า 59)  ได้กล่าวถึงความสุขว่า  สภาพจิตที่เป็นปกติดีนั่นแหละเรียกว่าความสุข  สุขก็เพราะว่าจิตปกติไม่ขึ้นไม่ลง ไม่เอียงขวา  เอียงซ้าย ไม่มีอะไรมาผูกมัดจิตใจ เป็นอิสระ  เป็นไทแก่ตัว  อย่างนี้เรียกว่า “ปกติ”
ใจที่ปกติคือใจที่ไม่มีอะไร  รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น  อะไรตั้งอยู่  อะไรดับไป  แล้วควรจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร  อย่างนี้จิตใจก็สบาย  ไม่ค่อยมีปัญหา  รวมความว่า  ชีวิตของเราต้องการทั้งความสุขทั้งกาย  ทั้งใจ  ทางอารมณ์  เราก็ต้องมีสติ  มีปัญญา  พยายามที่จะรักษาใจไว้ให้ปกติอยู่ตลอดเวลา  รู้จักประมาณในการกิจ  การอยู่  การนุ่งห่ม  ใช้สอย  การปฏิบัติหน้าที่  และการพักผ่อน  สภาพร่างกาย  จิตใจ  ก็จะมีความสุขสมบูรณ์  สมปรารถนา

 

          พุทธทาสภิกขุ  (2545)  ได้กล่าวถึง  ความสุขมี  3  ระดับ  คือ

  1. สุข  เพราะไม่เบียดเบียน  เป็นความสุขค่อนข้างจะเป็นเรื่องสังคมหรือของหมู่คณะ  ถ้าไม่เบียดเบียนกันก็จะเป็นสุข  หรือไม่เห็นแก่ตัว
  2. สุข  เพราะอยู่เหนืออำนาจกาม  หรือเป็นความสุขเพราะอยู่เหนือกิเลสที่จะมากระทบตัวเราเป็นความรัก  หลงใหลในสิ่งต่าง ๆ หรือการกำหนัดยินดี  อารมณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นกามอย่างหนึ่ง  การที่หลงใหลทั้งบุคคล  วัตถุก่อให้เกิดความทุกข์ได้ทั้งสิ้น

           

           พระมหานิยม  อิสวโส (อ้างถึงใน  จงจิต เลิศวิบูลย์มงคล,  2546,  หน้า 22)  กล่าวถึงความหมายของคำว่า สุข หมายถึง ความสบาย ความสำราญ มี 2 อย่าง คือ กายิสุข  คือ  สุขทางกาย  เจตสิกสุข  คือ  สุขทางใจ  ทั้งสองอย่างเป็นสุขทางธรรม  ส่วนสุข  หมายถึง  ความสุข  ความสะดวก  ความสบาย  ความสำราญ  ความไม่เบียดเบียน  เป็นความสุขทางโลก

 

            สมพร  รุ่งเรืองกลกิจ  และคณะ  (2546,  หน้า  239)  กล่าวว่าคนอีสานใช้คำว่า “ความสุข”  แทนคำว่า “สุขภาพจิต”  ที่เป็นภาษาทางการโดยให้ความหมายของความสุขว่า  เป็นเรื่องของหัวจิตหัวใจ  คนที่มีความสุขคือ  คนที่มีภาวะจิตใจที่สงบ  ไม่คิดมาก  แสดงให้เห็นได้ด้วยการมีสีหน้ายิ้ม สดชื่น แจ่มใส สามารถกินข้าวได้ นอนหลับ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีสัมพันธภาพดีกับบุคคลรอบข้าง “คนที่ไม่มีความสุข”  หรือ  “สุขภาพจิตไม่ดี”  คือคนที่มีภาวะจิตใจไม่สงบ  ฟุ้งซ่าน  คิดมาก  คิดหลายอย่าง ในเวลาเดียวกัน สังเกตได้จากการที่บุคคลนั้นมีอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย  ขี้บ่น หน้าบูด นอนไม่หลับ กินข้าวไม่อร่อย นั่งเหม่อลอย จะเห็นได้ว่า คนอีสานให้ความสำคัญต่อการที่มีภาวะจิตใจที่สงบ  ไม่คิดมาก เป็นองค์ประกอบหลักที่จะทำให้คนมีความสุข

 

            พินิจ  รัตนกุล (2547,  หน้า 30-31)  ศาสนาพุทธแบ่งความสุขที่มนุษย์พึงมีออกเป็น  3  ระดับตามกำเนิดหรือที่มา  (ของความสุข)  ในระดับแรกความสุขเป็นการควบคุมกิเลสตัณหาไม่ให้มีอำนาจเหนือตัวเราด้วยศีล (คุณธรรม)  สมาธิ  (เอาจิตตั้งไว้ในอารมณ์ที่เป็นกุศล)  และปัญญา (การพิจารณาไตร่ตรอง)  ในระดับนี้ความสุขยังเกี่ยวพันกับการมีวัตถุ  (เช่นทรัพย์)  และการสนองความต้องการของอินทรีย์ทั้งหก (ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ) อยู่  แต่เป็นการตอบสนองในขอบเขตของความพอดีและไม่ได้เกิดจากความโลภ ในระดับสูงขึ้น  ความสุขเกิดจากการมีจิตใจสงบ  (เพราะไม่อยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา)  และมีลักษณะประณีตและลึกซึ้งกว่า  เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัตถุ  แต่เป็นผลจากการขุดลึกลงไปในจิต  จนพบความสงบนิ่งที่เป็นสภาพธรรมดาของจิต  ศาสนาพุทธเรียกความสุขระดับนี้ว่า  “สันติสุข” ส่วนความสุขระดับสุดท้ายเป็นการที่จิตมีอิสระสมบูรณ์  ใสสว่างปราศจากกิเลสตัณหาและอุปาทาน  ศาสนาพุทธเรียกว่า  “วิมุตติสุข”  คือเป็นความสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นจากอกุศลมูลทั้งสามอันได้แก่  โลภ  โกรธ  หลง
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  ความสุขในคำสอนของพุทธศาสนามีอยู่  2  ประเภทใหญ่ คือ  ความสุขทางโลกที่เกิดจากการมีวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการเช่น  มีทรัพย์  มิตรภาพ  เกียรติยศ  ชื่อเสียง  และความสุขทางธรรม (ตรงข้ามกับทางโลก)  ที่เกิดจากการมีจิตสงบอยู่ในสภาวะปกติ (สันติสุข)  และการมีจิตเป็นอิสระจากกิเลสตัณหาและอุปาทาน (วิมุตติสุข)  ด้วยแสงสว่างของปัญญาหรือวิชชา  ส่วนมนุษย์จะมีความสุขประเภทใดนั้น  เป็นการเลือกของคนแต่ละคน  และต้องใช้ความเพียรพยายามด้วยตนเอง  เช่นถ้าหากเราต้องการมีความสุขทางโลกให้มากขึ้น  เราต้องมีทั้งทานและศีลควบคู่กันไปกับการมีทรัพย์หรือฐานะตำแหน่ง  และถ้าหากมีใจเป็นสมาธิคือตั้งใจที่จะ  สงเคราะห์ผู้อื่นให้มีความสุขตามกำลังที่ทำได้เราก็จะยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นอีก  ถ้าหากเราเลือกความสุขทางธรรม  เราต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ จึงจะทำให้จิตเป็นปกติได้เต็มที่คือหลุดพ้นจากอำนาจจากความโลภ  ความโกรธ  และความหลง

 

          อภิสิทธิ์  ธำรงวรางกูร  (อ้างถึงใน  อภิชัย  มงคล  และคนอื่น ๆ,  2547,  หน้า  16) กล่าวว่าความสุขของเรามี 8 เรื่องใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสุขภาพจิต

  1. ความสุขจากการมีหลักประกันในชีวิต  ซึ่งหมายถึง  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  มีผู้ดูแลไม่เป็นไปตามบุญตามกรรม  และการมีทรัพย์สินที่ดินทำกิน
  2. ความสุขจากการมีสุขภาพกายและทางใจดี
  3. ความสุขจากการที่มีครอบครัวอบอุ่น
  4. ความสุขจากการมีชุมชนที่เข้มแข็ง
  5. ความสุขจากการมีความภาคภูมิใจ  การที่ลูกหลานได้ดีพึ่งตนเองได้  การมีภูมิปัญญาที่จะถ่ายทอดสู่ลูกหลาน  และผู้สนใจ
  6. ความมีอิสรภาพ  การมีอิสระในการคิด  การพูดและทำโดยไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น  และสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งการไม่มีหนี้
  7. ความสุขจากการบรรลุธรรม  ซึ่งหมายถึง  การมีปัญญาที่จะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในตนเองและสิ่งแวดล้อม
  8. มีสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ต้นไม้ใหญ่

            ยูนิเวอร์ซิตี้  ออฟ  แคลิฟอร์เนีย (ไทยรัฐ, 2548)  กล่าวถึง  บันได  8  ขั้นสู่ความสุขไม่สิ้นสุด  ดังนี้
            ขั้นที่  1  คิดถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
คุณโชคดีแค่ไหนที่ได้เกิดมาสุขสบาย ถึงแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างแต่ชีวิตนี้ก็มีสิ่งดี ๆ ผ่านเข้ามามากมายแทนที่จะนั่งคร่ำครวญ  ลองหันมาทบทวนถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต  เริ่มจากวิธีง่าย ๆ ใช้เวลาช่วงค่ำวันอาทิตย์  เขียนบันทึกเรื่องราว 3-5 เรื่อง  ที่ทำให้คุณซึ้งใจ  หมั่นหาเรื่องใหม่ ๆ มาหยอดกระปุกความทรงจำ
            
             ขั้นที่  2  ฝึกนิสัยให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
การให้คือความสุขอันยิ่งใหญ่  ฝึกนิสัยตนเองให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นอยู่เป็นนิจ  ทั้งเพื่อนฝูง  ญาติพี่น้อง  หรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้า  ยิ่งคุณรู้จักแสดงน้ำใจกับผู้อื่นมากเท่าไหร่  คุณจะยิ่งสัมผัสได้ถึงพลังพิเศษในตัว  “การให้”  ทำให้คุณรู้สึกถึงความใจกว้าง  ทำให้ผู้อื่นมองคุณในแง่ดีขึ้น  ได้รอยยิ้ม  และน้ำใจไม่รู้จบ
            
             ขั้นที่  3  เติมความรื่นรมย์ให้ชีวิต
ใส่ใจในรายละเอียดของความสุข  และสิ่งมหัศจรรย์  ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ โมเมนต์ของชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นความหวานฉ่ำของสตรอเบอร์รี่  หรือไอแดดอันอบอุ่น  ลองกด ชัตเตอร์ด้วยหัวใจ  เพื่อบันทึกภาพช่วงเวลาแสนงดงาม  เก็บไว้ในความทรงจำเมื่อถึงเวลาจำเป็นคุณค่อยเปิดลิ้นชัก  เรียกความทรงจำดี ๆ กลับคืนมา
            
             ขั้นที่  4  ชื่นชมและแสดงความซึ้งใจ  ต่อผู้มีพระคุณ
ถ้าในชีวิตคุณมีใครสักคนที่รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ  เพราะเขาคนนั้นเป็นแสงสว่างช่วยส่งนำทางพาคุณ  ให้พ้นจากความสับสนในช่วงทางแยกของชีวิต  อย่ารีรอที่จะแสดงความชื่นชมเขาคนนั้น  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ด้วยความจริงใจ  จากก้นบึ้งความรู้สึกข้างใน
            
             ขั้นที่  5  เรียนรู้ที่จะให้อภัย
ปลดปล่อยความโกรธแค้นและความไม่พอใจ  ด้วยการเขียนจดหมายให้อภัยแก่ศัตรูที่ทำร้ายหรือหักหลังคุณ  การไม่รู้จักให้อภัยจะทำให้ใจคุณไม่สงบ  เกิดอาการไฟสุมทรวง  หมกมุ่นอยู่กับการแก้แค้นไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ถ้ารู้จักอภัยให้กัน  จิตใจคุณจะสงบขึ้นและทำให้มองทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตสวยงามขึ้น

            ขั้นที่  6  หมั่นให้เวลาแก่ครอบครัวและเพื่อนฝูง
ไม่ว่าชีวิตคุณจะหรูหราฟู่ฟ่าเพียงใด  หรือได้เงินเดือนเท่าไหร่  อาชีพการงานจะก้าวหน้าแค่ไหน  สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบน้อยมากต่อความพึงพอใจในชีวิตคุณจะมีความสุขหรือไม่  ขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพมีต่อผู้คนรอบข้าง  ยิ่งมีคนรักและดีต่อคุณเท่าไหร่  ชีวิตของคุณก็ยิ่งน่าพึงพอใจเท่านั้น
            
            ขั้นที่  7  ดูแลสุขภาพและรูปร่างสม่ำเสมอ
การได้หลับเต็มตื่น,  ออกกำลังกาย,  ยืดแข้งยืดขา,  หัวเราะ หรือยิ้ม  ล้วนแต่ช่วยให้คุณอารมณ์ดีได้  แต่ถ้าหมั่นฝึกฝนบ่อย ๆ ทำสิ่งเหล่านี้จนเป็นกิจวัตร  คุณจะพบว่าชีวิตประจำวันของคุณน่าอยู่ขึ้นเยอะ
            

            ขั้นที่  8  หาตัวช่วยรับมือกับความเครียดและปัญหายุ่งยาก
เมื่อมีปัญหา  หรือมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นในชีวิต  คุณต้องกล้าเผชิญหน้ากับมัน  แทนที่จะถอยหนี  คำสอนทางศาสนา  และปรัชญาความเชื่อดี ๆ ซึ่งคุณศรัทธาด้วย หัวใจจะช่วยให้ปัญหาใหญ่ ๆ กลายเป็นเรื่องขี้ประติ๋ว
กล่าวโดยสรุปแล้ว  ความสุขหมายถึงความสุขกายและใจ  ซึ่งเกิดจากการที่บุคคลสามารถจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต  มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  สามารถอยู่ได้อย่างมีคุณค่าในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

 

 

อ้างอิงจาก

อภิชัย  มงคล และคนอื่นๆ. (2544ข). รายงานวิจัยการศึกษาดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทย. ขอนแก่น: โรงพิมพ์พระธรรมขันต์.

อภิชัย  มงคล และคนอื่นๆ. (2547). รายงานวิจัยการพัฒนาและทดสอบดัชนีชี้วัด
                        สุขภาพจิตของคนไทยฉบับใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 2). ขอนแก่น: โรงพยาบาล
จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

พุทธทาสภิกขุ. (2545). คู่มือมนุษย์. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา

จงจิต  เลิศวิบูลย์มงคล. (2546).  ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล  การ
            ได้รับการสร้างเสริมพลังอำนาจในงานแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์  กับความสุข
            ในการทำงานของพยาบาลประจำการ.  วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตร
มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สมพร  รุ่งเรืองกลกิจ  และคนอื่นๆ. (2546). สุขภาพจิตตามการรับรู้ของคน
อีสาน. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 48(4), 239-249.

พินิจ  รัตนกุล. (2547). สวดมนต์  สมาธิ  วิปัสสนา รักษาโรคได้ (พิมพ์ครั้งที่ 3).
นนทบุรี.เพชรรุ่งการพิมพ์.